“เด็ดดอกไม้ สะเทือนดวงดาว ฉันใด” – การตัดกระแสไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตจากประเทศไทยที่ส่งไปยังเมืองเมียวดีและท่าขี้เหล็กในเมียนมา ก็สร้างแรงกระเพื่อมมหาศาลไม่ต่างกัน ฉันนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นรุนแรงและซับซ้อนกว่าที่คาดการณ์ไว้หลายเท่าตัว

เพียงสองวันหลังจากที่รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการตัดไฟฟ้า น้ำมัน และอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ฝั่งเมียนมา ปัญหาขาดแคลนพลังงานเริ่มส่งผลกระทบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นถึงสองเท่า แม้ว่าการเดินทางข้ามพรมแดนไทย-เมียนมายังคงดำเนินไปตามปกติ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเมียนมาได้ออกมาตรการควบคุมการเดินทางออกนอกประเทศของประชาชน โดยชายอายุ 18-35 ปีถูกจำกัดไม่ให้เดินทางไปต่างประเทศจนกว่าจะผ่านกระบวนการเกณฑ์ทหาร ขณะที่ผู้หญิงอายุ 18-27 ปี ถูกห้ามใช้พาสปอร์ตข้ามแดนท่าขี้เหล็กมายังประเทศไทย คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568

ผลกระทบต่อเสรีภาพและเศรษฐกิจเมียนมา

การจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดนนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของเมียนมาโดยตรง หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพของประชาชน และเพิ่มแรงกดดันต่อภาคธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการค้าชายแดน

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 หน่วยเฉพาะกิจราชมนูได้รับตัวบุคคลต่างชาติ 61 คน ซึ่งตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์จากเมืองชเวโก๊กโกและเมืองเมียวดี ซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลของกองกำลังกะเหรี่ยง BGF โดยการประสานงานจากศูนย์ประสานงานชายแดนไทย-เมียนมา บุคคลเหล่านี้ถูกส่งกลับประเทศต้นทางผ่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยมี “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้การต้อนรับ

การตอบโต้ของกองกำลังท้องถิ่นในเมียนมา

วันเดียวกัน สำนักข่าว Mizzima รายงานว่า กองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ซึ่งควบคุมพื้นที่เมืองเมียวดี และกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (DKBA) ซึ่งมีอิทธิพลในพื้นที่ชายแดนเมียนมา ตรงข้ามอำเภอพบพระ จังหวัดตาก และเมืองพญาตองซู ฝั่งด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี ได้ออกแถลงการณ์ประกาศกวาดล้างการก่ออาชญากรรมและการค้ามนุษย์ในเขตปกครองของตน

BGF อ้างว่าตั้งแต่ปี 2566 ได้ช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์กว่า 2,000 คน ส่งกลับประเทศต้นทาง และยังคงดำเนินมาตรการร่วมกับรัฐบาลเมียนมาและองค์กรระหว่างประเทศต่อไป ขณะที่ DKBA ก็ให้คำมั่นว่าจะปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมถึงการค้ายาเสพติด

เมียนมาปรับตัว แต่ยังเผชิญวิกฤติพลังงาน

แม้เมียนมาจะเตรียมรับมือกับคำสั่งตัดไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตจากไทย โดยมีการติดตั้งเครื่องปั่นไฟและแผงโซลาร์เซลล์ รวมถึงการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจากลาวเพิ่มจาก 20 เมกะวัตต์ เป็น 30 เมกะวัตต์ แต่รายงานจาก Tachileik News Agency ระบุว่า ลาวได้แจ้งลดปริมาณไฟฟ้าที่จ่ายให้เมียนมาเหลือเพียง 13 เมกะวัตต์โดยไม่ระบุเหตุผล ส่งผลให้ทางการท่าขี้เหล็กต้องจัดลำดับความสำคัญของการใช้ไฟฟ้า โดยโรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงานรัฐ และธุรกิจจำเป็น เช่น โรงผลิตน้ำแข็งและการสื่อสาร ได้รับสิทธิ์ใช้ไฟฟ้าก่อน ส่วนธุรกิจบันเทิง เช่น โรงแรม คลับ และบาร์ อยู่ในลำดับรองลงมา

ขณะเดียวกัน ฝ่ายเมียนมาได้เตรียมส่งตัวชาวต่างชาติ 91 คนกลับมายังฝั่งไทย โดย พ.อ.หม่อง ชิตตู่ ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ระบุว่า จะมีการส่งตัวชาวต่างชาติกลับไทยเดือนละ 1,000 คน พร้อมประสานงานอย่างละเอียดกับรัฐบาลทั้งสองประเทศ